1. ความเป็นมา
กรุงเทพมหานครได้รับการร้องเรียนจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอาคารมือสองเป็นจำนวนมากว่า ได้ซื้ออาคารต่อจากเจ้าของอาคารเดิมโดยสุจริตกล่าวคือ ไม่ทราบมาก่อนว่าอาคารดังกล่าวมีการก่อสร้างดัดแปลง ฯลฯ ฝ่าฝืนต่อกฎหมายควบคุมอาคาร (ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2535 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544) เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ และเข้าครอบครองอาคารแล้ว ต่อมาสำนักงานเขตมีคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร คนปัจจุบันให้ทำการแก้ไขอาคารหรือรื้อถอนอาคารนั้น เจ้าของคนปัจจุบันจึงต้องรับภาระในการแก้ไขอาคารหรือรื้อถอนอาคารตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าว จึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเป็นจำนวนมาก
วัตถุประสงค์
เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน (เจ้าของอาคารมือสอง) ดังกล่าวมิให้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากการซื้อ/ขายอาคารโดยสุจริตจากเจ้าของอาคารเดิม กรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายที่จะออก หนังสือรับรองความถูกต้องของอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารให้กับเจ้าของอาคารรายนั้น
2. หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับดำเนินการตรวจสภาพบ้านมือสองให้กับประชาชน
- ถ้าเป็นอาคารสูงไม่เกิน 4 ชั้น อยู่ในอำนาจของสำนักงานเขตเป็นผู้พิจารณาออกใบอนุญาต จึงต้องยื่นคำร้องที่สำนักงานเขตที่อาคารรายนั้นตั้งอยู่
- ถ้าเป็นอาคารสูงเกิน 4 ชั้น อยู่ในอำนาจของกองควบคุมอาคาร สำนักงานโยธาเป็นผู้พิจารณา ออกใบอนุญาต จึงต้องยื่นคำร้องที่กองควบคุมอาคาร สำนักงานโยธา
3. วิธีการและแนวทางปฏิบัติในการขอรับบริการตรวจสภาพบ้านมือสองก่อนซื้อ
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอออกหนังสือรับรองความถูกต้องของอาคารตามกฎหมาย ควบคุมอาคาร ดังนี้
1. ผู้มีความประสงค์จะขอตรวจสอบอาคาร ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารโดยมี หลักฐานมาแสดงขณะยื่นคำร้อง ดังนี้
1.1 กรณีผู้ขอเป็นบุคคลธรรมดา
1.1.1 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ขอ
1.1.2 สำเนาโฉนดที่ดิน และ/หรือ หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวอาคาร
1.1.3 สำเนาใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และสำเนาแบบแปลน แผนผังที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร
1.1.4 สัญญาจะซื้อจะขายอาคารที่ขอให้ตรวจสอบ
1.1.5 แผนผังสังเขปแสดงที่ตั้งของอาคาร
1.2 กรณีผู้ขอเป็นนิติบุคคล
1.2.1 หนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งออกโดยกรมทะเบียน การค้ากระทรวงพาณิชย์ ซึ่งออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
1.2.2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลผู้ขอ
1.2.3 สำเนาโฉนดที่ดิน และ/หรือ หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวอาคาร
1.2.4 สำเนาใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และสำเนาแบบแปลนแผนผังที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคาร
1.2.5 สัญญาจะซื้อจะขายอาคารที่ขอให้ตรวจสอบ
1.2.6 แผนพังสังเขปแสดงที่ตั้งอาคาร
2. ผู้มีความประสงค์จะขอตรวจสอบอาคาร ต้องเขียนคำร้องตามแบบคำร้องที่กำหนดให้ พร้อมแนบหลักฐานตามข้อ 1
3. ถ้าเป็นอาคารไม่เกิน 4 ชั้น ยื่นคำร้องที่ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตที่อาคารนั้นตั้งอยู่
4. ถ้าเป็นอาคารเกิน 4 ชั้น ยื่นคำร้องที่กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา หากมีการยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบอาคารเกินกว่า 4 ชั้น ที่สำนักงานเขต ผู้อำนวยการ เขตจะส่งคำร้องดังกล่าวไปยังกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ให้พิจารณาต่อไป
5. กรณีที่เจ้าของอาคารไม่มีแบบแปลน แผนผังที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารมายื่นจะ ตรวจสอบสภาพของอาคารตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 เท่านั้น
4. ขั้นตอนการตรวจสภาพบ้านมือสอง
1. เมื่อเจ้าของอาคารมายื่นคำร้อง และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารว่าครบถ้วนถูกต้องตาม หลักเกณฑ์แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะรับเรื่องไว้ และแจ้งให้ประชาชนมาติดตามผลภายในระยะเวลา 15 วัน
2. หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วเห็นว่า เอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะคืนเรื่อง ไปให้เจ้าของอาคารไปดำเนินการใหม่ให้เรียบร้อย
3. เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้แล้ว เจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องต้องไปตรวจสอบอาคารรายนั้นโดยเร็ว โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
4. เมื่อตรวจสอบแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เสนอความเห็นรายงานต่อผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้อำนวยการเขต และให้ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้อำนวยการเขตมีคำสั่งโดยเร็ว
5. หากพบว่าอาคารรายนั้นไม่มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร ผู้อำนวยการ สำนักการโยธา หรือผู้อำนวยการเขต จะออกหนังสือรับรองแก่เจ้าของอาคารตามแบบที่กรุงเทพมหานครกำหนด
6. หากพบว่าอาคารนั้นมีการกระทำใด ๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร ผู้อำนวยการ สำนักการโยธา หรือผู้อำนวยการเขต ไม่สามารถออกหนังสือรับรองแก่เจ้าของอาคารได้
5. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการดังกล่าว
1. ลดความเสียหายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อขายอาคารมือสอง
2. ประชาชนได้รับความรู้และความเข้าใจตามกฎหมายควบคุมอาคารฯ มากขึ้น
3. ประชาชนได้รับความเชื่อมั่นในการซื้อขายอาคารที่ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารฯ
6. คำแนะนำสำหรับประชาชนในการพิจารณาซื้อบ้านมือสอง
ขณะนี้กรุงเทพมหานครพร้อมที่จะให้บริการประชาชนในเรื่องนี้ หากเอกสารของเจ้าของอาคารครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแล้ว การให้บริการตรวจสอบอาคารย่อมสะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งเมื่อได้รับหนังสือรับรองจากกรุงเทพมหานคร ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอาคารย่อมได้รับประโยชน์จากการ ตรวจสอบนี้อย่างเต็มที่ เพราะสามารถเชื่อมั่นได้ว่าอาคารรายนี้ ก่อสร้าง/คัดแปลง โดยถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว ซึ่งจะไม่ต้องมีการแก้ไขหรือรื้อถอนอาคารรายนี้ในภายหลัง
——————————————————————————–
สำนักงานเลขานุการกรม
30 ตุลาคม 2545